วัตถุประสงค์
- กำหนดและดำเนินการให้นโยบายและแผนด้านทรัพยากรบุคคลสำหรับผู้บริหารระดับสูงเป็นไปในแนวทางเดียวกับเป้าหมายทางธุรกิจและแนวทางการปฏิบัติทั่วไป
- ดึงดูดและรักษาบุคคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงไว้กับบริษัท
- สร้างความมั่นใจว่าค่าตอบแทนรวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ สำหรับผู้บริหารระดับสูงอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันได้
- ให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการบริษัท ในเรื่องที่เกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท สามารถมอบหมายหน้าที่ ความรับผิดชอบให้แก่คณะกรรมการชุดย่อยได้อย่างเหมาะสม
- แก้ไขปัญหาและ/หรือให้คำแนะนำค่าตอบแทนของพนักงานซึ่งมีเรื่องขัดแย้งทางผลประโยชน์
องค์ประกอบและคุณสมบัติ
คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน (“คณะกรรมการ”) จะได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัท และมีจำนวนอย่างน้อย 3 ท่าน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 ท่าน และกรรมการอย่างน้อย 2 ท่าน สมาชิกของคณะกรรมการทุกท่านจะต้องเป็นกรรมการอิสระที่มาจากคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ คณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ
วาระการดำรงตำแหน่ง
สมาชิกแต่ละท่านในคณะกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยสมาชิกที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกได้
ในกรณีที่มีตำแหน่งว่างลงในคณะกรรมการนอกเหนือจากการออกตามวาระ ให้คณะกรรมการบริษัท แต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นสมาชิกของคณะกรรมการในตำแหน่งที่ว่างดังกล่าว เพื่อให้คณะกรรมการมีจำนวนสมาชิกครบถ้วนตามที่คณะกรรมการบริษัท กำหนด ทั้งนี้ บุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงดังกล่าวให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของสมาชิกของคณะกรรมการที่ตนเข้ามาแทน
หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
- เสนอแนวทางและให้ความเห็นในภาพรวมเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนประจำปี และนโยบายการจ่ายโบนัสของบริษัท
- พิจารณาทบทวนการจ่ายโบนัส การขึ้นเงินเดือน รวมทั้งสิ่งจูงใจทางด้านสวัสดิการและผลประโยชน์ของประธานกรรมการบริษัท รวมทั้งญาติของท่านซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท
- พิจารณาทบทวนและอนุมัติค่าใช้จ่ายของประธานกรรมการบริษัท
- พิจารณาทบทวน และในกรณีที่จำเป็น เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนของกรรมการบริษัท ที่ปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
- พิจารณาทบทวน และในกรณีที่จำเป็น เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมสวัสดิการ ผลประโยชน์ (เช่น การให้สิทธิพนักงานซื้อหุ้น เบี้ยเลี้ยง เงินอุดหนุน และสวัสดิการอื่นๆ) นโยบายการขึ้นเงินเดือน และการจ่ายโบนัส สำหรับผู้บริหารระดับสูง ทั้งนี้ ฝ่ายจัดการจะเป็นผู้กำหนดเงินค่าจ้างของพนักงานแต่ละท่าน
- กำหนดหลักเกณฑ์บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัท
- กำหนดกระบวนการคัดเลือกกรรมการอย่างมีหลักเกณฑ์และโปร่งใส
- เสนอและ/หรือประเมินบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการบริษัท และสมาชิกคณะกรรมการชุดย่อยให้คณะกรรมการบริษัท พิจารณาในกรณีที่มีตำแหน่งว่างลง
- ประเมินความเป็นอิสระของกรรมการอิสระและประเมินความต้องการว่าจะให้มีกรรมการอิสระท่านใหม่เพิ่มเติมตามนโยบายคณะกรรมการบริษัทหรือไม่
- แจ้งรายชื่อกรรมการและสมาชิกคณะกรรมการชุดย่อยที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระให้แก่กรรมการบริษัท และเสนอแนะคณะกรรมการบริษัท ว่าสมควรที่จะให้การสนับสนุนกรรมการและสมาชิกคณะกรรมการชุดย่อยท่านนั้นๆ ให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่
- พิจารณาทบทวนกฎบัตรคณะกรรมการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเสนอแนะการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อคณะกรรมการบริษัท
- รายงานการปฏิบัติงานและผลการตรวจสอบของคณะกรรมการให้คณะกรรมการบริษัท ทราบ
อำนาจของคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
เพื่อช่วยให้คณะกรรมการสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ คณะกรรมการมีอำนาจใช้ดุลพินิจแต่งตั้งที่ปรึกษาภายนอกที่เหมาะสม เพื่อช่วยในการพิจารณาทบทวนนโยบายต่างๆ ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน เสนอแนะโครงการที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และสวัสดิการใหม่ๆ สำหรับพนักงาน และ/หรือดำเนินการศึกษาวิจัยด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรบุคคล